
เหมืองทองคำที่ลึกที่สุดในโลก
หนึ่งในความทึ่งของโลกที่มนุษย์ท้าทายธรรมชาติต้องยกให้กับการขุดเจาะเหมืองใต้พิภพที่มีความลึกกว่า 3.9 กิโลเมตร นั้นคือเหมืองทองคำทอโทนา TauTona ในแอฟริกาใต้ เป็นเหมืองที่ทำการขุดเจาะมานานกว่า 57 ปี มีคนงานกว่า 5,600 คน ถูกยกว่าเป็นเหมืองทองคำที่ลึกที่สุดในโลก

สุดยอดเหมืองแร่ทองคำที่ลึกที่สุดในโลก
Tautona ภาษาละติน แปลว่า สิงโตผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งสมแล้วกับฉายาเหมืองทองคำที่ลึกที่สุดในโลก เริ่มดำเนินการขุดเจาะตั้งแต่ปี 1962 ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ AngloGodl Ashanti เป็นเหมืองทองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ West Witts ทางตะวันตกของ Johannesburg ประเทศแอฟริกาใต้
เหมืองทอโทนาเดิมมีความลึกอยู่ที่ 2 กิโลเมตร พอปี 2006 เริ่มขยายเหมืองให้ลึกกว่าเดิม 2 กิโลเมตร เหมืองทองคำจึงมีความลึกถึง 3.9 กิโลเมตร (2.4 ไมล์) จากผิวดิน มีอุโมงค์ที่อยู่ใต้ดินยาวรวมกันแล้วเท่ากับ 800 กิโลเมตร เทียบเท่ากับตึก Empire State เรียงต่อกัน 9 ตึก ทำให้เหมืองทอโทนากลายเป็นเหมืองทองคำที่ลึกที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบันนี้
ถ้าเอ่ยถึงความยากในการขุดเจาะแต่ละครั้งยากกว่าเหมืองทั่วๆ ไป เพราะมีความลึกที่สุดทำให้คนงานต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 2 เพื่อต่อคิวเข้าแถวลงลิฟต์ต่อถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีความเร็วเพียงแค่ 16 เมตรต่อวินาที ทำให้การเดินทางด้วยลิฟต์กินเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นต้องเดินเท้าต่ออีก 2-3 กิโลเมตรเพื่อไปถึงจุดลึกที่สุดของเหมือง เพียงแค่การเดินทางลงใต้เหมืองก็ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงแล้ว จากนั้นทำงานอีก 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาเดินทางกลับอีก 2 ชั่วโมง รวมระยะเวลาที่คนงานคลุกคลีกับชีวิตเหมืองแร่วันละ 12 – 14 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ความเสี่ยงของคนงานในเหมืองที่ขึ้นชื่อว่าลึกที่สุดในโลกคือการเจอกับสภาพอากาศร้อนกว่า 55 องศาเซลเซียส ในเหมืองจึงต้องติดเครื่องทำความเย็น แต่ก็มีคนป่วยเป็นโรค Heat Stoke ทุกวัน และยังต้องเจอกับอันตรายรอบด้าน เช่น น้ำท่วม หินถล่ม แก๊สรั่ว ก๊าซระเบิด แผ่นดินไหวภายใต้เหมืองวันละ 10 ครั้ง ทำให้มีคนตายเฉลี่ยปีละ 5 คน
ด้วยความลึกใต้พิภพทำให้บริษัทได้แร่ทองคำที่อยู่ในสภาพดี ถ้าเทียบกับเหมืองเปิดจัดได้ว่าเป็นสินแร่คุณภาพดี เพราะการระเบิดหินขนาดใหญ่ 1 ตันจะได้แร่ทองคำประมาณ 8-10 กรัม ต่างจากเหมืองเปิดมักจะได้สินแร่เกรดไม่ดีมากนัก และได้ทองคำเพียง 1-4 กรัมจากหินที่ระเบิดขนาดเท่ากัน
อัตราการส่งออกทองคำของเหมืองทอโทนาคิดเป็น 7% ของทั้งหมดในบริษัท AngloGold Ashanti ในปี 2006 สามารถผลิตทองคำจากเหมืองได้มากถึง 13 ตัน และในปี 2007 ผลิตทองคำได้ประมาณ 11 ตัน ทั้งนี้ปัจจัยการผลิตที่น้อยลงเพราะมาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2017 บริษัท AngloGodl Ashanti ติดอันดับผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก หนึ่งในนั้นมาจากส่วนหนึ่งของเหมืองทอโทนานั้นเอง